ตอน 4) ความเร็วสายพานสำหรับวัสดุอุตสาหกรรม

ความเร็วของระบบกระพ้อลำเลียงสำหรับวัสดุที่ไม่ใช่ Free Flow

1.ลูกกระพ้อจากอดีตถึงปัจจุบัน

     เรื่องนี้ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากลูกค้า เมื่อลูกค้าส่งคำถามมาว่าต้องการที่จะเปลี่ยนลูกกระพ้อที่ติดมากับเครื่องจักรจากต่างประเทศ ให้เหมือนเดิมทุกประการทั้งรูปร่าง สี ขนาดและชนิดของวัสดุหลังจากผู้เขียนได้สอบถามรายละเอียดการใช้งานตลอดจน Specificationแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าลูกกระพ้อผลิตในประเทศไทยสามารถทดแทนกันได้ เพราะลูกกระพ้อที่ผลิตจากต่างประเทศนั้นราคาแพงและต้องใช้เวลานานในการขนส่งก่อนส่งมอบลูกค้าจะเสียโอกาสในการผลิตไปดังนั้นผู้เขียนจึงแนะนำลูกค้าให้ใช้ลูกกระพ้อที่ผลิตในประเทศไทยที่มีรูปร่างใกล้เคียงกันและใช้วัสดุที่ดีเหมาะสมและทนทานกว่าวัสดุอันเดิมแต่คำตอบจากลูกค้า (ส่วนมากจะเป็นช่างที่ดูแลงานซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไม ต้องปฏิเสธเอาไว้ก่อน เพราะทำดีก็เสมอตัว ทำพลาดโดนยำเละ เฉยๆดีและสบายกว่า แต่ถ้าเสนอเรื่องนี้ให้ผู้ประกอบการ เจ้าของหรือเฒ่าแก่ จะชอบมากเพราะจะได้ของดี เหมาะสมกับการใช้งาน และราคาคุ้มค่า) ก็คือ ลูกค้าปฏิเสธพร้อมกับพูดด้วยประโยคทองที่ทำให้ผู้เขียนถึงกับ อึ้ง แบบไปไม่เป็นว่า ..”ใครจะรับผิดชอบหากของใหม่ดีไม่เท่าเดิม เกิดเครื่องจักรต้องหยุดงานความเสียหายเป็นล้าน คุณรับผิดชอบได้มั๊ย ผมไม่เสี่ยง ” ผู้เขียนได้แค่คิดในใจว่า...เรื่องอย่างนี้แค่ เปิดใจ ฟังเหตุฟังผลก่อนลูกกระพ้อราคาแค่หลักร้อย กำไรแค่หลักสิบ อะไรจะให้รับผิดชอบได้มากมายขนาดนั้น แต่เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้า ผู้ผลิต ผู้ขายและผู้ใช้งานและผู้จ่ายเงิน มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องจริงเกี่ยวกับลูกกระพ้อ ปัญหาความไม่รู้นี้ก็จะเป็นเรื่องง่ายที่สามารถจะจูนความคิดของผู้ผลิต  ผู้ขาย ผู้ใช้งาน และผู้จ่ายเงิน ให้เข้าใจร่วมกันได้ ประโยชน์ก็จะเกิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ใช้งานและเจ้าของโรงงานผู้จ่ายเงิน ผู้ขายก็สามารถขายของได้มีกำไร ผู้ใช้งานและเจ้าของโรงงานก็ได้สินค้าที่ดีประหยัดราคาถูกคุ้มค่า และก็ส่งมอบได้รวดเร็ว ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ลูกกระพ้อกันการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะช่วยสนองความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแทนการคาดเดาหรือความเชื่อถือที่ปราศจากหลักฐานเป็นบันทึกประสบการณ์ของมนุษยชาติที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษา

 

2. Belt Speed for different Materials การเลือกความเร็วสำหรับกระพ้อลำเลียงที่ไม่ใช่วัสดุไหลได้ง่าย

     ในบทความที่ผ่านมาในตอนที่ 1- 2 และ 3 เราจะพูดถึงการลำเลียงวัสดุที่มีคุณสมบัติไหลง่าย(Free Flow) ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม แต่ยังมีวัสดุอีกมากมายหลายประเภทที่ไม่สามารถจัดเข้าได้กับคุณสมบัติดังกล่าว แต่จำเป็นจะต้องลำเลียงด้วยระบบกระพ้อลำเลียง วัสดุเหล่านี้ส่วนมากแล้วเป็นวัสดุใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น ถ่านหิน สินแร่ ถ่านหรือแร่ธาตุต่างๆ หรือวัสดุที่มีขนาดใหญ่(Big Lump)  มีน้ำหนักมาก คมมีการขัดสีสูงหรือวัสดุที่ชื้นหรือเหนียวมีแรงยึดเกาะสูงหากเราใช้ตารางที่ 1 (อย่าลืมตารางที่1มีสมมุติฐานว่าวัสดุต้องมีคุณสมบัติFreeFlow) มาใช้ในการออกแบบ อาจจะทำให้เกิดปัญหาอะไรหรือไม่ และเราจะทำยังไงดี ทบทวนดูตารางที่ 1 อีกครั้งข้างล่างนี้

ตารางที่ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างเส้นผ่าศูนย์กลางของพูเล่ (Diameter of Wheel) และความเร็วของสายพาน(Belt Speed) สำหรับระบบกระพ้อลำเลียงแบบใช้ความเร็วสูง (centrifugal Discharge Elevator) ที่ถือว่าเป็นค่าที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการออกแบบ

                ความเร็วที่ใช้ในการออกแบบในตารางที่ 1 (เป็นความเร็วที่สูงหรือค่อนข้างสูง) นั้น โดยมีสมมติฐานว่าวัสดุที่ลำเลียงต้องเป็นวัสดุที่ไหลง่าย แต่ถ้าวัสดุนั้นไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้แบบเต็ม 100 % อาจจะเป็นวัสดุประเภทที่ มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก ชื้น เหนียว ฝุ่น เช่น ถ่านหิน แร่ธาตุต่างๆ ซีเมนต์ ยิบซั่ม จะทำให้เกิดปัญหามีผลกระทบบางประการที่เราต้องพิจารณาดังนี้

  • 1.หากวัสดุเหล่านี้ หนักและไหลยาก ลูกกระพ้อจะต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการตัก (Dig) วัสดุ ซึ่งพลังงานที่ใช้นี้เป็นพลังงานที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์
  • 2.ลูกกระพ้อต้องเป็นวัสดุแบบพิเศษ แข็งแรงทนทานต่อแรงเสียดทานอย่างมากถึงจะสามารถตักวัสดุเหล่านี้เข้าสู่ลูกกระพ้อได้ ดังนั้น ลูกกระพ้อPlastic มาตรฐานธรรมดาอาจจะเสียหายขณะที่ตักได้ เช่น ยืด แตกหัก หรือทำให้ Nut and Bolt หลุดออกจากสายพานได้ อาจจะต้องใช้ลูกกระพ้อเหล็กแทน Plastic หรือใช้ลูกกระพ้อ Plastic แบบหนาเป็นพิเศษเป็นต้น
  • 3.การจ่าย(Discharge) วัสดุด้วยความเร็วสูงเมื่อวิ่งกระทบกับผนังของ Chute จะมีผลทำให้ผนัง Chute สึกหรอเร็วเพราะวัสดุมีน้ำหนักมาก แหลมคม หรือมีคุณสมบัติขัดสีสูง การวิ่งด้วยความเร็วสูงโซ่หรือสายพาน มีการยืดตัวสูงและเสียหายได้ง่าย ความเร็วสูงไม่เหมาะสำหรับที่จะลำเลียงวัสดุที่แตกหักได้ง่าย

 

สมมุติฐานประเด็นเกี่ยวกับวัสดุไหลง่ายจะนิยามว่าอย่างไร

การทดลองอะไรก็ตามก็จะมีการตั้งสมมติฐานไว้เพื่อให้มีขอบเขตการทำงาน ในที่นี้ก็เช่นกันผู้ทดลอง ตั้งสมมติฐานว่า วัสดุที่ลำเลียง เป็นวัสดุประเภทแห้ง(Dry) ไหลง่าย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Free Flow แต่มันก็ทำให้พี่ น้อง งงและสงสัยเหมือนกันว่า อาการไหลง่าย ๆนี้มันเป็นยังไง เอาอะไรมาวัดมาตรฐาน แค่ไหนที่เรียกว่าไหลง่าย แค่ไหนเรียกไหลยาก  ดังนั้นเพื่อให้พี่น้องมองเห็นภาพและ สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ผู้เขียนจะขอตั้งสังเกต โดยอิงจากภาคปฏิบัติในสนามก็แล้วกัน ผู้เขียนจะถือว่าเมื่อวัสดุกองที่ Boot Pulley แล้วลูกกระพ้อสามารถตัก(Dig) ได้โดยวัสดุและลูกกระพ้อไม่เสียหาย วัสดุสามารถไหลเข้าลูกกระพ้อได้ง่าย ขนาด(Size)ของวัสดุไม่ใหญ่เกินไป หากลูกกระพ้อตักวัสดุไม่เต็มถ้วย ยังสามารถเติมวัสดุให้เต็มได้ผ่านทางช่องเติมหรือช่องโหลด(Loading Leg) เหนือ Center LINE ของ Boot Pulley  วัสดุมีพฤติกรรมประมาณนี้ก็ถือว่าเป็นวัสดุที่ไหลง่ายก็แล้วกัน

ผู้เขียนพยายามหาข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงอื่นๆบ้าง ขออ้างอิง CEMA ก็แล้วกันโดย CEMA ได้จัดแบ่งความสามารถการไหล (Flow ability) ของวัสดุแปรตาม Angle of repose (มุมกอง) ไว้ 4 แบบคือ

  • ไหลง่ายมากมีมุมกองน้อยกว่า 19 องศา
  • ไหลง่ายมีมุมกองอยู่ระหว่าง 20 ถึง 29 องศา
  • ไหลได้ง่ายปานกลางมีมุมกลองอยู่ประมาณ 30 ถึง 39 องศา
  • ไหลยากมีมุมกองมากตั้งแต่ 40 องศาขึ้นไป
 

 

 

 

มีวิธีบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อลำเลียงด้วยความเร็วสูงดังต่อไปนี้

  • 1.เมื่อลูกกระพ้อไม่สามารถตักวัสดุเต็มกระพ้อ ต้องเติมวัสดุที่ช่องเติมเหนือเส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley ให้วัสดุมีทิศทางการไหลในแนวเส้นสัมผัส (Tangent) กับทิศทางการกวาดของลูกกระพ้อขณะที่ลูกกระพ้อกวาดขึ้น และอย่าป้อนวัสดุให้มีปริมาณมากเกินกว่าความสามารถของลูกกระพ้อจะรับได้ เพราะวัสดุส่วนเกินจะไปกองท่วมที่ Boot Pulley ทำให้วัสดุท่วม Boot ลูกกระพ้อจะต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการตัก (Dig) วัสดุ และทำให้ลูกกระพ้อเสียหาย
 

การเติมให้วัสดุมีทิศทางการไหลในแนวเส้นสัมผัส (Tangent)กับทิศทางการกวาดของลูกกระพ้อขณะที่ลูกกระพ้อกวาดขึ้น

 

  • 2.ต้องลดความเร็วของสายพานลง เพื่อให้อิทธิพลของแรงหนีศูนย์กลางมีค่าน้อยลง ที่จะทำให้วัสดุถูกผลักออกจากลูกกระพ้อน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ ลูกกระพ้อที่ตำแหน่ง 1 และ 2 ใน (รูป1 ด้านล่าง) สามารถรับวัสดุได้เต็มที่ อย่างไรก็ดีวัสดุประเภทไหลยากหน่อย ที่คุณสมบัติไม่ Free Flow เช่นถ่านหินแรงหนีศูนย์กลางจะผลัก/ดัน วัสดุออกไปได้ยาก (เมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุแบบ  Free Flow) เพราะมีน้ำหนักและแรงเสียดทานมากกว่า ดังนั้นจึงมีความสามารถที่จะรับวัสดุได้เต็มลูกกระพ้อได้ง่ายกว่า
 

 

รูป 1. ทิศทางของแรงขณะที่ลูกกระพ้อตักและจ่ายวัสดุ

  • เพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulleyเพื่อลดแรงหนีศูนย์กลาง
    • ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดบางประการในการออกแบบ บังคับให้ต้องออกแบบเส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley มีขนาดเล็ก ซึ่งมีผลทำให้แรงหนีศูนย์กลางที่ Boot Pulley จะมีค่าสูง (แรงหนีศูนย์กลางแปรผันตาม 1/r) ดังนั้นการแก้ไขด้วยการลดความเร็วของสายพาน ก็จะเป็นการลดความเร็วของแรงหนีศูนย์กลางทำให้วัสดุสามารถตักวัสดุลงลูกกระพ้อได้เต็มง่ายขึ้น

 

 

ตารางที่ 2. ความสัมพันธ์ระหว่างเส้นผ่าศูนย์กลางของ Head Pulley (Diameter of Wheel) และความเร็วของสายพาน(Belt Speed) สำหรับระบบกระพ้อลำเลียงแบบใช้ความเร็วปานกลาง (Modulate Speed) ที่ถือว่าเป็นค่าที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการออกแบบวัสดุที่ไม่มีคุณสมบัติ Free Flow

 

3.ตัวอย่างพฤติกรรมของการเคลื่อนที่ การรับ จ่าย วัสดุ ของลูกกระพ้อตามความเร็วในตารางที่ 2

     เพื่อให้พี่น้องเข้าใจพฤติกรรมของการเคลื่อนที่ การรับ จ่าย วัสดุของลูกกระพ้อที่ใช้ความเร็วตามตารางที่ 2 พร้อมคำแนะนำต่างๆ จึงขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ดังรูป 7 ข้างล่างนี้ แสดงทิศทางของแรงต่างๆตามขนาดและทิศทางที่แท้จริง ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley (18 นิ้ว) เท่ากับครึ่งหนึ่ง ของHead Pulley (36 นิ้ว) โดยใช้ความเร็วตามตารางที่ 2 จะเห็นว่าแรงหนีศูนย์กลางที่พยายามผลักวัสดุออกจากลูกกระพ้อเกิดที่ Boot Pulley มีค่ามากกว่า 3 เท่าของแรงหนีศูนย์กลางเกิดที่ตำแหน่งจ่ายวัสดุที่ Head Pulley

 

รูป 7 แสดงขนาดและทิศทางที่แท้จริงของแรง ณ.จุดต่างๆ โดยใช้ความเร็วตามตารางที่ 2 เส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley : Head Pulley =Ratio 1: 2

 

  • ถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางของ  Boot Pulley (24 นิ้ว)Boot Pulley : Head Pulley = Ratio 2: 3 ทิศทางและขนาดของแรงจะเป็นไปตามรูปที่ 1 ดังที่เคยอธิบายไว้แล้ว
  • ถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางของ  Boot Pulley (27 นิ้ว) Boot Pulley : Head Pulley = Ratio 3: 4 การตักวัสดุจะทำได้ง่ายขึ้น
  • ถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley (36 นิ้ว) Boot Pulley : Head Pulley = Ratio 1: 1 การตักวัสดุจะทำได้ง่ายมากและลูกกระพ้อสามารถตักวัสดุได้จนเต็มถ้วย
  • แนะนำว่า แม้จะมีข้อจำกัดบางประการอย่างไรก็ตาม ควรออกแบบให้ เส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley : Head Pulley เล็กที่สุดต้องเท่ากับหรือมากกว่า 1 :2   เพื่อลูกกระพ้อสามารถตักวัสดุได้ง่าย (NOTE: เส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley ที่มีขนาดใหญ่กว่า จะสามารถตัก(Dig)และเติม(Fill) วัสดุได้ง่ายและเต็มลูกกระพ้อได้ดีกว่า Boot Pulley ที่มีขนาดเล็ก)
  •  ถ้าหากลำเลียงวัสดุที่มีขนาดเล็กละเอียดมาก (fine) แห้งและเป็นฝุ่น(Dusty) จะต้องลดความเร็วของสายพานลง เพื่อให้ลูกกระพ้อมีเวลาที่จะไล่อากาศออกจากลูกกระพ้อก่อนที่จะตัดวัสดุได้ มิฉะนั้นแล้วลูกกระพ้อจะไม่สามารถเติมวัสดุให้เต็มได้ จะทำให้วัสดุฟุ้งกระจายภายใน Boot ขณะเดียวกันที่ Head Pulley หมุนจะมีสภาพคล้ายพัดลมเป่า/ตี ให้วัสดุฝุ่นที่บางเบา ฟุ้งกระจายที่ไม่ตกลงไปยัง Chute แต่จะตกลงไปBoot แทนทำให้ capacity ลดลง(หมายเหตุ การเจาะรูที่ลูกกระพ้อก็เป็นการช่วยไล่อากาสออกจากลูกกระพ้อ)
  • สำหรับวัสดุประเภทที่มีน้ำหนักเบา ที่เกิดจากการสี(Mill) หรือการโม่ เช่น แป้ง รำข้าว แกรบ หรือวัสดุที่มีลักษณะคล้ายกัน ควรใช้ความเร็วตามตารางที่ 2 แนะนำว่า เส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley : Head Pulley เล็กที่สุดต้องมี  Ratio 3:4  หรือจะให้เท่ากัน Ratio 1:1 ได้ก็จะดี
  • สำหรับวัสดุเช่น ผงซีเมนต์ที่ละเอียด ปูนขาวบด หรือวัสดุที่มีลักษณะที่ แห้งและเป็นฝุ่น มีความหนาแน่นมากกว่า 50 ปอนด์ต่อลูกบาศก์ฟุต แนะนำว่า เส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley : Head Pulley ต้องไม่มากกว่า Ratio 3: 4 ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางของ Boot Pulley เท่ากับ 18 นิ้ว Head Pulley จะต้องคงสัดส่วน 3 ต่อ 4 นี้ไว้ ดังนั้นเส้นผ่าศูนย์กลางของ Head Pulley จะมีค่าเกิน 24 นิ้วไม่ได้
  • สำหรับวัสดุที่มีลักษณะเป็นก้อน(Lumpy) แข็ง (Hard) มีเหลี่ยมมุม(Gritty) เช่น ถ่านหิน ถ่านโค้ก หินย่อย กรวด ทราย ปุ๋ย และสารเคมีประเภทอื่นๆ หรือวัสดุที่มีความชื้นที่สามารถจะติดกับลูกกระพ้อได้ การเลือกใช้ความเร็วตาม ตารางที่ 2 ต้องพิจารณาจากการสึกหรอ(Wear) และการฉีกขาด(Tear)  ของลูกกระพ้อหรือของสายพานแทนที่จะพิจารณาจากการจ่าย(Discharge) ที่สะดวกของลูกกระพ้อ
  • สำหรับถ่านหินที่ผ่านการร่อน/บด ที่มีขนาดใหญ่สุดไม่เกิน 1.5 นิ้ว พบว่า Head Pulley ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง

72 นิ้ว ความเร็วใกล้ๆกับ 500 ฟุตต่อนาที ระบบสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี

  • ถ้าถ่านหินมีขนาดใหญ่ว่า 2 นิ้วก็ควรจะลดความเร็วของสายพานให้น้อยลงเป็น 400 ฟุตต่อนาที โดยใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง Head Pulley เท่ากับ 54 นิ้ว
  • สำหรับวัสดุที่เป็นก้อนขนาดใหญ่มากกว่า 3 นิ้ว ให้พิจารณาใช้ระบบลำเลียงแบบอื่นที่วิ่งด้วยความเร็วช้า ไม่ควรใช้ระบบกำกระพ้อลำเลียงแบบ centrifugal Discharge
  • สำหรับวัสดุที่มีขนาดใหญ่ มีคม และมีคุณสมบัติในการขัดสีสูง(High abrasive)  อาจจะใช้ความเร็วลดลงเท่ากับ 350 ฟุตต่อนาทีและใช้เส้นผ่าศูนย์กลางของ Head Pulley เท่ากับ 42 นิ้ว
  • ความเร็วสูงสุดสำหรับระบบลำเลียงทีใช้โซ่ไม่ควรจะเกิน 350 ฟุตต่อนาที
 

 

Bucket Elevator ในอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์

 

4. ตัวอย่างการเลือกขนาดสัดส่วน Boot/Head Pulley Diameter Ratio ตามตารางที่2

โจทย์ สมมุติว่าเรามีความจำเป็น ที่จะต้องใช้ความเร็วของสายพาน เท่ากับ 350 ฟุตต่อนาทีเพื่อให้ได้ Capacity จำนวนหนึ่งที่ต้องการ  การออกแบบมีทางเลือกดังนี้คือ

  • Case 1 ตามตารางที่ 2 ดูที่ความเร็ว 352 ฟุตต่อนาที (ใกล้เคียงกับ 350 ฟุตต่อนาที) ต้องใช้ Head Pulley Diameterเท่ากับ 42 นิ้ว Boot Pulley Diameter กำหนดค่าเท่ากับ 2:3 ของ Head Pulley Diameter เท่ากับ 28 นิ้ว หรือจะให้ดี ก็ใช้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 30 นิ้วและดียิ่งขึ้นอาจจะเป็น 36 นิ้วก็ได้
  • Case 2 ในบางกรณีที่พื้นที่ด้านล่างจำกัด ไม่สามารถที่จะใส่ Boot Pulley Diameter มีขนาดใหญ่ได้

สมมุติว่ามีพื้นที่จำกัดทำให้ต้องออกแบบ Boot Pulley Diameter แค่ 20 นิ้วคำนวณหา Head Pulley Diameter (มีค่าเท่ากับ 3:2 ) ได้เท่ากับ 30 นิ้ว (ตามตารางที่ 2) ความเร็วของสายพานที่คู่กันคือ = 290 ฟุตต่อนาที ดังนั้นหากเราต้องการให้ได้ capacity เท่าเดิมก็จำเป็นจะต้องมีทางเลือกคือ

  • 1 ลดช่องว่างระหว่างลูกกระพ้อให้สั้นลง ติดลูกกระพ้อให้ถี่มากขึ้น
  • หรือเพิ่มขนาด(Size) ของลูกกระพ้อให้มากขึ้น
  • Case 3 ถ้าเลือก Head Pulley Diameter มากกว่า 30 นิ้วเช่น 36 นิ้ว (ขณะที่ Boot PulleyDiameter เท่ากับ 20 นิ้ว) ตามตารางที่ 2 ต้องเลือกความเร็วของสายพาน 320 ฟุตต่อนาที ในกรณีเช่นนี้เราจะสิ้นเปลืองพลังงานกว่าปรกติเปล่าประโยชน์มากขึ้น ขณะที่Boot Pulley เล็กไป วัสดุไม่สามารถเติมเต็มลูกกระพ้อได้ (Boot Pulley : Head Pulley  Ratio:  1:1.8 ) ทำให้ capacity ของระบบไม่ได้ตามที่ต้องการ
 

Boot Pulley for Chain Bucket Elevator ในอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์

 

ความในใจของทีมงานคอนเวเยอร์ไกด์

เป็นความตั้งใจของทีมงานที่จะไม่นำเสนอเรื่องที่คนอื่นจัดให้มากอยู่แล้วเช่น เรื่องแคตตาล็อก(Catalog) ต่างๆ แต่เราจะนำเสนอเรื่องราวความรู้ในแง่มุมของหลักการ(Principle)และเหตุผล(Reasons)ว่าจะต้องทำยังไง(How)และทำไม(Why)จะต้องทำอย่างนั้นซึ่งเป็นเรื่องที่หาข้อมูลได้ยากพอสมควร แม้แต่ในตำราก็ไม่เคยบอกไว้ และก็ไม่มีใครเขาอยากจะบอกกัน หรือ ดังนั้นเนื้อหาบางเรื่องจึงเป็นเรื่องที่ผ่านการลงพื้นที่จริงของทีมงานแล้วนำมาวิเคราะห์บอกกล่าวผู้อ่านกันเอง

ลองถามมาเลยครับถ้าเป็นเรื่องสายพานลำเลียง (Conveyor Belt) ไม่ว่าจะเป็นสายพานยางดำ (Rubber Belt), สายพานกระพ้อ (Elevator Belt)  สายพานพลาสติกโมดูลาร์ (Modular Belt)  สายพาน PVC BELT , PU BELT, , สายพานท็อปเชน(Flat Top Chain) ทีมงานวิศวกรจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่มีเบื้องหลังและประสบการณ์การทำงานด้านระบบสายพานลำเลียงทั้งระบบสายพานลำเลียงทั้งขนาดใหญ่(Heavy Duty)ที่และขนาดเบา(Light Duty) ร่วมกันแบ่งปันความรู้กับท่านผู้อ่านผ่าน website นี้

ยินดีแชร์กันทุกแง่มุม ตั้งแต่ การออกแบบ การผลิต การเลือก การเก็บรักษา การบำรุงรักษา การซ่อมแซม การต่อสายพาน การใช้งาน การ Modifyมีของเท่าไหร่ปล่อยหมด ไม่มีกั๊ก ไม่มีดึง ไม่มีเม้ม เปิดๆกันไปเลย เราบริการ ดัง MOTTO “ บอกทุกเรื่อง...ที่คนอื่นไม่อยากให้คุณรู้ “เสิร์ฟข่าวสาร อาหารสมอง” อย่างจุใจจริงๆ” “ตอบโจทย์เฉพาะเรื่อง....ครบเครื่องเรื่องสายพาน”

ขอขอบคุณ Supplier ทั้งใน อเมริกา ยุโรปและเอเชีย ที่ให้โอกาสเราได้เยี่ยมชมโรงงานและขบวนการผลิตตลอดจนให้ข้อมูลด้านเทคนิคลึกๆที่เป็นประโยชน์....ขอบคุณปัญหาทุกรูปแบบที่ทุกผู้บริโภคหรือผู้อ่านเป็นผู้นำโอกาสมาให้เราได้เรียนรู้....ขอบคุณผู้ที่เขียนตำราทั้งใน Website และText book…. ขอบคุณเพื่อนๆร่วมอาชีพที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์....ขอบคุณ Maker ผู้สร้างเครื่องจักรทั้งหลาย ที่ให้ข้อคิดเห็นดีๆที่เป็นประโยชน์ และสุดท้ายขอบคุณฝ่ายMaintenance ฝ่ายจัดซื้อและบัญชีการเงินของลูกค้าทุกท่านที่จ่ายเงินตรง Due....เราหวังว่าเราจะเดินทางไกลไปพร้อมๆกับคุณ ..If you want to walk fast…work alone. If you want to walk far...walk together.จึงเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องการแบ่งปัน ‘Together we Share’ ผลงานที่นำมาเสนอ อาจจะ ออกช้าบ้างแต่ที่แน่ๆคือมันจะมีออกมาเรื่อยๆ....นี่คือคำสัญญาจากเรา