ตอน 2) วิธีการเลือกซื้อลูกกระพ้อ

1.ลูกกระพ้อจากอดีตถึงปัจจุบัน

        เรื่องนี้ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากลูกค้าเมื่อลูกค้าส่งคำถามมาว่าต้องการที่จะเปลี่ยนลูกกระพ้อที่ติดมากับเครื่องจักรจากต่างประเทศ ไห้เหมือนเดิมทุกประการทั้งรูปร่าง สี ขนาดและชนิดของวัสดุหลังจากผู้เขียนได้สอบถามรายละเอียดการใช้งานตลอดจน Specification แล้วผู้เขียนเห็นว่าลูกกระพ้อผลิตในประเทศไทยสามารถทดแทนกันได้เพราะลูกกระพ้อที่ผลิตจากต่างประเทศนั้นราคาแพงและต้องใช้เวลานานในการขนส่งก่อนส่งมอบ ลูกค้าจะเสียโอกาสในการผลิตไปดังนั้นผู้เขียนจึงแนะนำลูกค้าให้ใช้ลูกกระพ้อที่ผลิตในประเทศไทยที่มีรูปร่างใกล้เคียงกันและใช้วัสดุที่ดีและทนทานกว่าวัสดุอันเดิมแต่คำตอบจากลูกค้าก็คือลูกค้าปฏิเสธพร้อมกับพูดด้วยประโยคทองที่ทำให้ผู้เขียนถึงกับอึ้งแบบไปไม่เป็นว่า ..ใครจะรับผิดชอบหากของใหม่ดีไม่เท่าเดิม เกิดเครื่องจักรต้องหยุดงานความเสียหายเป็นล้าน คุณรับผิดชอบได้มั๊ยผู้เขียนได้แค่คิดในใจว่า...เรื่องอย่างนี้แค่ เปิดใจ ฟังเหตุฟังผลก่อนลูกกระพ้อราคาแค่หลักร้อย กำไรแค่หลักสิบ อะไรจะให้รับผิดชอบได้มากมายขนาดนั้น แต่เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าผู้ผลิต ผู้ขายและผู้ใช้งานมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องจริงเกี่ยวกับลูกกระพ้อ ปัญหาความไม่รู้นี้ก็จะเป็นเรื่องง่ายที่จะจูนความคิดของผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ใช้งาน ให้เข้าใจร่วมกันได้ ประโยชน์ก็จะเกิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ใช้งานและเจ้าของโรงงานผู้จ่ายเงินผู้ขายก็สามารถขายของได้มีกำไรผู้ใช้งานและเจ้าของโรงงานก็ได้สินค้าที่ดีประหยัดราคาถูกและก็ส่งมอบได้รวดเร็วดังนั้นเรามาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ลูกกระพ้อกันการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะช่วยสนองความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแทนการคาดเดาหรือความเชื่อถือที่ปราศจากหลักฐานเป็นบันทึกประสบการณ์ของมนุษยชาติที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษา

2. มากกว่า 100 ปีผ่านไปรูปทรงของลูกกระพ้อแบบแรงหนีศูนย์กลางมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

          ในอดีตมีลูกกระพ้อมาตรฐานเป็นรูปทรง A-B-C-D  ที่กล่าวมาแล้วในตอนที่1 ต่อมามีการออกแบบลูกกระพ้อรูปทรงแปลกๆ ใหม่ๆ มาทาง ผู้ผลิตก็อวดอ้างสรรพคุณว่ามีคุณสมบัติที่ดีอย่างไง แล้วก็นำไปจดลิขสิทธิ์ ขอยกการจดลิขสิทธิ์ที่อเมริกามาเป็นตัวอย่าง ผู้เขียนก็เลยพยายามเสาะหาลูกกระพ้อที่ฝรั่งจดลิขสิทธิ์ และก็ขายดิบขายดีกันอยู่ที่ต่างประเทศเอามาเล่าสู่กันฟังประดับความรู้ของผู้ที่ติดตามเว็บไซต์แห่งนี้ บางส่วนของลูกกระพ้อแสดงให้เห็นตามรูปข้างล่างนี้

จดลิขสิทธิ์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1938 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

2.1 ลูกกระพ้อของนาย Carl Edwin Lindburg

        มีคำบรรยายคุณลักษณะพิเศษของลูกกระพ้อ ที่นำมาจดลิขสิทธิ์สรุปเอาใจความสั้นๆได้อย่างนี้  ลักษณะของลูกกระพ้อมีความพิเศษคือ โปรไฟล์หน้าตัด(Section)ของลูกกระพ้อ มีหน้าตัดเป็นรูปเหลี่ยมทำมุมกันเริ่มจากด้านล่างสุดแล้วค่อยค่อยหักทำมุมเอียงขึ้นทีละส่วนหน้าตัดจนกระทั่งถึงปาก(lip) ของลูกกระพ้อ การที่ลูกกระพ้อมีพื้นเอียงทำให้วัสดุสามารถไหลออกได้อย่างรวดเร็ว รายละเอียดดูเอาในรูปได้เลยครับนี่เป็นพัฒนาการเมื่อ 80 ปีก่อน ยังผลิตขายอยู่ตราบเท่าปัจจุบัน

ส่วนจุดประสงค์ของการประดิษฐ์ นี้ที่ผู้ผลิตอวดอ้าง(Claim) ก็คือ

     1.ปรับปรุงลูกกระพ้อให้สามารถจ่ายวัสดุได้อย่างสะดวก รวดเร็วและต่อเนื่องทุกๆส่วนหน้าตัดของลูกกระพ้อเมื่อมุม(angular section) ของหน้าตัดเปลี่ยนไป

      2. ปรับปรุงไม่ให้วัสดุล่วงหล่นออกจากลูกกระพ้อขณะลำเลียงขึ้น (Up leg) และสามารถจ่าย (Discharge) วัสดุออกได้อย่างหมดจด สามารถลดแรงเสียดทาน (Friction) จากการยึดเกาะของวัสดุกับส่วนก้นของลูกกระพ้อ

      3. สามารถจ่าย(Discharge) วัสดุออกจากลูกกระพ้อที่มุมประมาณ 45 องศาจากแนวดิ่งวัดจากจุดสูงสุดของHead Pulley และสามารถจ่ายวัสดุออกหมดที่มุมประมาณ 30 องศาจากแนวราบ

     จากปี ค.ศ. 1938 ถึง ค.ศ. 2018 จนถึงปัจจุบันนี้ลูกกระพ้อแบบนี้จดลิขสิทธิ์มา 80 ปีแล้ว การคุ้มครองลิขสิทธิ์น่าหมดเวลาแล้วจึงมีผู้เล่นขาใหญ่ของโลกหลายราย ผลิตลูกกระพ้อแบบนี้ออกมาขาย ผู้เขียนลอง Scan เร็วๆเลือกแคตตาล็อกของผู้ผลิตขาใหญ่บางรายมาแสดงให้ดูดังที่เห็นข้างล่างนี้ ที่จริงมีอีกผู้ผลิตขาใหญ่อีกหลายๆมาเล่นกับการผลิตลูกกระพ้อรูปทรงนี้ขายอยู่ แต่ไม่ได้นำมาแสดงให้ดู

2.ลูกกระพ้อของ Bralime et al.

                ลูกกระพ้อรุ่นนี้นำมาจดลิขสิทธิ์โดยการประยุกต์เอารุ่นลูกกระพ้อ cc โดยตัดความสูงด้านหลังรูปออกให้สั้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงสามารถวางเรียงซ้อนกันได้ใกล้ชิดกัน(บนสายพาน)มากกว่าลูกกระพ้อประเภทอื่น ทำให้มีปริมาณการขนถ่าย(capacity) ได้มากขึ้น ลูกกระพ้อแบบนี้ในทางการค้าและการโฆษณาเรียกว่ารุ่น Low Profile ผู้เขียนขอเรียกง่ายๆว่ารุ่น ปากต่ำหรือรุ่นท้ายตัดก็ได้ จะ OK เพื่อการเข้าใจได้ง่ายๆ

                 จดทะเบียนลิขสิทธิ์เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2004 และลิขสิทธิ์และคุ้มครองเป็นเวลา 14 ปี  จะหมดการคุ้มครองวันที่ 15 เดือนกันยายน ค .ศ. 2018 ก็อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แล้วคงจะได้เห็นการ copy กันมาใช้งานเยอะแยะและราคาถูกลงอย่างแน่ๆแม้จะยังไม่เหมือนหมดเทอมของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ผู้เขียนก็เคยเห็นลูกกระพ้อที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างนี้ขายมากมายในท้องตลาด เดาเอาว่าคงมี Dimension หรือระยะต่างๆเพี้ยนกันไปนิดๆหน่อยๆเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดกฎหมายลิขสิทธิ์

(REF: 4B)

 

จดลิขสิทธิ์เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2004 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

 

ผู้เล่นขาใหญ่ในโลกนำมาเปรียบเทียบกันให้ดู

        การแข่งขันทางด้านการตลาดของลูกกระพ้อของพวกฝรั่งก็ฟาดฟันกันน่าดู มีการเปรียบเทียบโอ้อวดความเก่งกาจ ตัวเองในแง่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับข้อด้อยของลูกกระพ้อของคู่แข่ง พร้อมทั้งระบุยี่ห้อของคู่แข่งไปด้วย ทำกันจะๆเห็นกันแจ้งๆ ผู้เขียนไม่กล้านำมาลงเดี๋ยวจะเข้าใจไปว่า เรา Take Side ข้างใดข้างหนึ่ง โฆษณาอย่างงี้ถ้าเป็นเมืองไทยก็คงได้ยิงกันไปแล้ว เข้าใจว่าเรื่องกฎหมายของต่างประเทศอาจจะอนุญาตให้ทำได้ถ้าโฆษณานั้นมีข้อเท็จจริงสามารถพิสูจน์ได้เช่นลูกกระพ้อของฉันหนากว่าเธอถ้าวัดและพิสูจน์ได้ว่าหนากว่าจริงก็คงไม่มีความผิด                                            อันนี้ผู้เขียนเดาเอาล้วนล้วนเลย

ลองดูเขาเปรียบเทียบว่าดีกว่ากันอย่างไร( REF:4B)

        ผู้เขียนเข้าใจว่าจะต้องมีลูกกระพ้อทรงแปลกๆใหม่ๆอีกมากเข้ามาในตลาดให้ผู้ใช้งานอย่างเรางงงวยเล่นอีกแน่ในอนาคต เพราะฉะนั้นฐานะที่เราเป็นผู้ใช้งานเราจะรู้อะไรบ้างถึงจะเป็นผู้ใช้งานที่ฉลาดไม่ถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาอย่างง่ายๆ ติดตามกันต่อไปจากเว็บไซต์ของเรา

3.ในฐานะผู้ใช้งานเราควรรู้อะไรบ้างก่อนเลือกลูกกระพ้อ

                ผู้เขียนรู้สึกรำคาญใจทุกทีที่อ่านแคตตาล็อกของลูกกระพ้อที่มีอยู่ในท้องตลาด ภาษาไทยไม่มีเรื่องราวอะไรให้เป็นประโยชน์อยู่แล้ว ส่วนแคตตาล็อกภาษาอังกฤษก็ไม่ได้บอกอะไรมากมีแต่โค้ดรหัสแปลกๆและคำโม้เรื่อยเปื่อย ซึ่งแต่ละรายก็ไม่เหมือนกัน อ่านแล้วก็งงเป็นอย่างยิ่ง เมื่ออ่านจบแล้วผู้อ่านพยายามมทบทวนเองว่าได้อะไรมาบ้า จะลองยกตัวอย่างจาก แคตตาล็อกของผู้ผลิตฝรั่งบางรายดังนี้ครับ

     ตัวอย่างที่ 1 ลูกกระพ้อ Model ABC เป็นผลิตภัณฑ์ออกใหม่ ทำก้นให้ลึกกว่าเดิม จากการศึกษาวิจัยมาอย่างดีทำให้มีปริมาณบรรจุมากกว่าลูกกระพ้อแบบเดิม ขณะเดียวกันก็ยังสามารถคงคุณสมบัติในการทำงานทั้งด้านการรับ(Loading)และจ่าย(Discharging) วัสดุได้ดีเยี่ยมเหมือนเดิม ถามว่าพูดอย่างนี้ผู้อ่านหรือผู้ฟังได้อะไรขึ้นมาบ้างครับ

     ตัวอย่างที่ 2 ลูกกระพ้อ Pattern GFX เพิ่มขนาดและปีกด้านข้างใหญ่ขึ้น ให้สามารถบรรจุวัสดุได้มากกว่าเดิมจนคุณนึกไม่ถึง เป็นรุ่นที่แข็งแรงทำจากวัสดุอย่างดี ทนทานสูง เหมาะสำหรับใช้กับวัสดุที่ไหลง่ายทุกชนิด ถามว่าโฆษณาอย่างนี้เราได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

     ตัวอย่างที่ 3 ลูกกระพ้อ รุ่น Low Profile ได้รับการออกแบบมาอย่างดีโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยการคงลักษณะและคุณสมบัติที่ดีของลูกกระพ้อแบบเดิมเอาไว้ทุกอย่าง ตัดปีกด้านข้างให้สั้นลงเพื่อลดน้ำหนักประหยัดราคา และเพิ่มประสิทธิภาพการบรรจุ(Capacity) โดยสามารถบรรจุวัสดุได้มากขึ้น ขณะที่ราคาถูกลง การจัดเก็บและการขนส่งทำได้ง่ายเพราะสามารถเรียงซ้อนกันได้ ดังนั้นจึงสามารถตอบโจทย์ของลูกกระพ้อได้อย่างหลากหลายและกว้างขวาง

     อ่านจบแล้วก็ไม่รู้จะตัดสินใจไงต่อ เพราะทุกอันก็ล้วนแต่ดีไปหมด แต่ผู้อ่านไม่ได้อะไรดีขึ้นมานอกจากความงงงวย ไม่รู้จะเลือกยังไงดีเพราะข้อมูลที่ให้มานั้นบอกเฉพาะเรื่อง What ? ขณะที่ผู้อ่านอย่างรู้คือเรื่อง Why? และ How?

     การเลือกรูปทรงของลูกกระพ้อที่เหมาะสมมีอิทธิพลอย่างมากต่อประสิทธิภาพการลำเลียงของระบบกระพ้อลำเลียง(Bucket Elevator) เพราะวัสดุที่มีคุณสมบัติต่างกันด้านการไหลตัว ย่อมต้องการสไตล์และรูปแบบของลูกกระพ้อต่างกันด้วยดังนั้นเพื่อให้ผู้ที่ติดตามเว็บไซต์นี้ความเข้าใจในหลักการเบื้องต้นผู้เขียนขอรวมสไตล์ต่างๆของลูกกระพ้อมาอยู่ในที่เดียวกันอธิบายหลักการ(Principle)ต่างๆอยู่ในภาพข้างล่างนี้

 A ลูกกระพ้อแบบมีปีกด้านข้างโค้งสูง ใช้ลำเลียงวัสดุไหลง่ายทั่วไปได้ เนื่องจากปีกด้านข้างสูงจึงมีข้อได้เปรียบเมื่อใช้ลำเลียงวัสดุที่มีมุมกองสูง (วัสดุฟู) เกาะตัวกันได้ดี เพราะสามารถเพิ่มปริมาณการบรรจุวัสดุอยู่ภายในลูกกระพ้อได้มากกว่าปรกติเพราะมีปีกสูงวัสดุไม่ล้นออก

 B ลูกกระพ้อแบบมีปีกเหลี่ยม เพื่อประหยัดวัสดุในการทำลูกกระพ้อ โดยตัดส่วนสูงของปีกสูงรูปแบบAให้ต่ำลง เพื่อลดลดน้ำหนักและลดปริมาณวัสดุที่ทำลูกกระพ้อ นั่นคือเป็นการลดต้นทุนด้านราคาของลูกกระพ้อด้วย ใช้ลำเลียงวัสดุไหลง่ายทั่วไปได้

C ลูกกระพ้อแบบ ปากตรง /ปากต่ำ หรือรุ่นท้ายตัด เรียกว่าเรียกกันว่า Low Profile โดยตัดปากให้มีระดับต่ำลง มีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกกระพ้อสามารถจัดเรียงกันได้ใกล้ชิดบนสายพานมากที่สุด ทำให้ปริมาณการขนถ่าย (Capacity) เพิ่มขึ้น (อย่าลือเพิ่มขนาดของมอเตอร์ด้วย)และอีกจุดประสงค์หนึ่งก็คือสามารถที่จะเรียงซ้อนกันได้ถี่ กินพื้นที่น้อยเพื่อสะดวกในการจัดเก็บและการขนส่ง

Bucket Selection Guide รายละเอียดอ่านได้ที่ลูกกระพ้อเรื่องจริงที่ต้องรู้ (ตอน 1)

รายละเอียดของลูกกระพ้อบางประเด็นที่จะต้องพิจารณาก่อนเลือกซื้อ(ดูจากภาพรวมด้านบน)

1.หากลำเลียงวัสดุที่มีการขัดสีสูง(Abrasive)ต้องเลือกรุ่นเสริมปากให้หนาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงในกรณีที่ต้องกขุด(Dig)วัสดุที่มีความคม(Sharp) หรือมีความขัดสีสูง(Abrasive)

2.ลำเลียงวัสดุที่ไหลได้ง่ายมาก (Watering Product) ต้องเลือกรุ่นที่เพิ่มระดับปากลูกกระพ้อให้สูงขึ้น จะเพิ่มความจุ(capacity) ได้สูงขึ้น เหมาะสำหรับวัสดุมีน้ำหนักเบา(Light) ไหลได้ง่ายอย่างอิสระ

3.หากลำเลียงวัสดุที่มีความเหนียว(Sticky Product) หรือมีแรงยึดเหนี่ยว(Cohesive Product) ระหว่างกัน หรือวัสดุมีแนวโน้มที่จะติดก้นของลูกกระพ้อได้ง่ายต้องเลือกลูกกระพ้อรุ่นที่มีลักษณะก้นกลมมน(Round)เพื่อป้องกันวัสดุติดที่มุมของลูกกระพ้อและปาก(Lip)กระพ้อจะต้องอยู่ต่ำเพื่อให้จ่าย(Discharge)วัสดุออกไปได้โดยง่าย

4.หากลำเลียงวัสดุน้ำหนักเบาที่สามารถฟุ้งกระจาย(Aeration)ได้ง่ายหรือมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กมากๆหรือมีลักษณะเป็นผง(ผ่านตะแกรงร่อน)จะต้องเจาะรูที่ก้นลูกกระพ้อเพื่อลดสภาพการเป็นสุญญากาศภายในลูกกระพ้อ ทำให้อากาศไหลผ่านลูกกระพ้อได้ ซึ่งอากาศนี้จะช่วยให้วัสดุเติม(Load)เข้าได้เต็มลูกกระพ้อและช่วยในการจ่าย(Discharge)ออกได้ง่าย

5.หากต้องลำเลียงวัสดุที่มีขนาดก้อนใหญ่(Lump)น้ำหนักมากจำเป็นจะต้องเพิ่มความหนาเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกระพ้อแอ่นเสียรูปหรือแตกหัก

ตารางช่วยเลือกประเภทของวัสดุที่ทำลูกกระพ้อ(REF:4B)

 

ลูกกระพ้อแบบปีกด้านข้างสูง

 

 ลูกกระพ้อแบบตัดปีกเหลี่ยม

 

 ลูกกระพ้อแบบ low Profile

 

 เปรียบเทียบลูกกระพ้อแบบมีปีกด้านข้างสูงและแบบ low Profile

 

 

เปรียบเทียบระยะห่างลูกระพ้อ(Bucket Spacing)ระหว่างลูกกระพ้อแบบธรรมดา(ซ้าย) กับลูกกระพ้อแบบ low Profile(ขวา)จะเห็นว่าแบบ low Profile สามารถวางได้หลายลูกกว่าในระยะเท่ากัน

 

 

       ผู้เขียนขอจบเรื่องลูกกระพ้อเพียงแค่นี้ เพราะเท่าที่เขียนมาผู้อ่านก็คงอ่านจนเบื่อเต็มทน แต่ต้องจำใจอ่านเพราะหาอ่านที่ไหนไม่ได้ พอดีมีลูกค้าของบริษัทมีปัญหาเรื่องลูกกระพ้อที่ไม่สามารถจ่ายวัสดุออกหมดได้ ผู้เขียนก็เลยถือโอกาสฝากถามผู้อ่านเป็นการบ้านปคิดดูต่อไปด้วย เรื่องมีดังนี้ครับ ลูกค้าของบริษัทเป็นโรงงานที่ผลิตกระเบื้องปูพื้น กระเบื้องปูผนังขนาดใหญ่ในประเทศไทย ใช้กระพ้ออยู่ 4 ต้น ลำเลียงวัสดุประเภทคล้ายผงดินที่ใช้เป็นวัสดุหลักทำกระเบื้องนั่นล่ะครับ วัสดุที่ว่านี้เป็นวัสดุที่ไหลได้ง่ายพอสมควร ต้นกระพ้อทั้ง 4 ต้นก็ทำงานได้เป็นอย่างดีไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งทางโรงงานปรับสูตรการทำกระเบื้องนิดหน่อยโดยเพิ่มความชื้นให้กับวัสดุอีก 7 เปอร์เซ็นต์ แล้วให้กระพ้อ 1 ต้นลำเลียงดินสูตรใหม่ ส่วนอีก 3 ต้นกระพ้อยังคงลำเลียงวัสดุสูตรเดิม ผลปรากฏว่าต้นกระพ้อที่ลำเลียงดินสูตรใหม่ ไม่สามารถจ่าย(Discharge)วัสดุออกได้หมดทั้งๆที่สิ่งแวดล้อมทุกอย่างเหมือนต้นกระพ้อ 3 ต้นเดิม ทำให้วัสดุสูตรตกลงมาด้านล่าง

(Back Legging) ฝุ่นฟุ้งกระจายไปหมด คำถามคือทำไมวัสดุจึงจะไม่สามารถจ่ายออกไปได้หมดและมีวิธีการแก้ไขได้อย่างไร

        ผู้อ่านที่ติดตามอ่านบทความความตอน 1 และตอน 2 มาอย่างดีแล้วก็คงจะพอมีหลักการในแก้ไขปัญหาได้ แต่ถ้าหากยังไม่รู้จะแก้ยังไง ผู้เขียนขอให้ติดตามอ่านตอนที่ 3 ต่อไป ผู้เขียนจะลองลงรูปให้เป็น Sample ยั่วให้ดูก่อนว่าน่าสนใจแค่ไหน

ลักษณะของแรงที่ทำบนลูกกระพ้อ

 

        ในตอน 3 นี้ผู้เขียนจะทำให้ผู้อ่านรู้อย่างละเอียดว่า แรงที่กระทำต่อวัสดุในลูกกระพ้อเป็นอย่างไร มีแรงประเภทไหนบ้างมีทิศทางเคลื่อนที่อย่างไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น และมันเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของวัสดุอย่างไร และเกี่ยวข้องกับความเร็วของสายพานหรือไม่หรือ เกี่ยวข้องกับขนาดความโตของลูกพูเล่ (Pulley อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสามารถโหลดหรือเติมวัสดุและจ่ายวัสดุออกอย่างไม่ล่วงหกตกหล่น อย่าลืมติดตามตอนที่ 3 ให้ได้นะครับ

ความในใจของทีมงานคอนเวเยอร์ไกด์

        เป็นความตั้งใจของทีมงานที่จะไม่นำเสนอเรื่องที่คนอื่นจัดให้มากอยู่แล้วเช่น เรื่องแคตตาล็อก(Catalog) ต่างๆ แต่เราจะนำเสนอเรื่องราวความรู้ในแง่มุมของหลักการ(Principle)และเหตุผล(Reasons)ว่าจะต้องทำยังไง(How)และทำไม(Why)จะต้องทำอย่างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่หาข้อมูลได้ยากพอสมควร แม้แต่ในตำราก็ไม่เคยบอกไว้ และก็ไม่มีใครเขาอยากจะบอกกัน หรือ ดังนั้นเนื้อหาบางเรื่องจึงเป็นเรื่องที่ผ่านการลงพื้นที่จริงของทีมงานแล้วนำมาวิเคราะห์บอกกล่าวผู้อ่านกันเอง

      ลองถามมาเลยครับถ้าเป็นเรื่องสายพานลำเลียง (Conveyor Belt) ไม่ว่าจะเป็นสายพานยางดำ (Rubber Belt), สายพานกระพ้อ (Elevator Belt)  สายพานพลาสติกโมดูลาร์ (Modular Belt)  สายพาน PVC BELT , PU BELT, , สายพานท็อปเชน(Flat Top Chain) ทีมงานวิศวกรจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่มีเบื้องหลังและประสบการณ์การทำงานด้านระบบสายพานลำเลียงทั้งระบบสายพานลำเลียงทั้งขนาดใหญ่(Heavy Duty)ที่และขนาดเบา(Light Duty) ร่วมกันแบ่งปันความรู้กับท่านผู้อ่านผ่าน website นี้

       ยินดีแชร์กันทุกแง่มุม ตั้งแต่ การออกแบบ การผลิต การเลือก การเก็บรักษา การบำรุงรักษา การซ่อมแซม การต่อสายพาน การใช้งาน การ Modifyมีของเท่าไหร่ปล่อยหมด ไม่มีกั๊ก ไม่มีดึง ไม่มีเม้ม เปิดๆกันไปเลย เราบริการ ดัง MOTTO “ บอกทุกเรื่อง...ที่คนอื่นไม่อยากให้คุณรู้ “เสิร์ฟข่าวสาร อาหารสมอง” อย่างจุใจจริงๆ” “ตอบโจทย์เฉพาะเรื่อง....ครบเครื่องเรื่องสายพาน”

      ขอขอบคุณ Supplier ทั้งใน อเมริกา ยุโรปและเอเชีย ที่ให้โอกาสเราได้เยี่ยมชมโรงงานและขบวนการผลิตตลอดจนให้ข้อมูลด้านเทคนิคลึกๆที่เป็นประโยชน์....ขอบคุณปัญหาทุกรูปแบบที่ทุกผู้บริโภคหรือผู้อ่านเป็นผู้นำโอกาสมาให้เราได้เรียนรู้....ขอบคุณผู้ที่เขียนตำราทั้งใน Website และText book…. ขอบคุณเพื่อนๆร่วมอาชีพที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์....ขอบคุณ Maker ผู้สร้างเครื่องจักรทั้งหลาย ที่ให้ข้อคิดเห็นดีๆที่เป็นประโยชน์ และสุดท้ายขอบคุณฝ่ายMaintenance ฝ่ายจัดซื้อและบัญชีการเงินของลูกค้าทุกท่านที่จ่ายเงินตรง Due....เราหวังว่าเราจะเดินทางไกลไปพร้อมๆกับคุณ ..If you want to walk fast…work alone. If you want to walk far...walk together.จึงเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องการแบ่งปัน ‘Together we Share’ ผลงานที่นำมาเสนอ อาจจะ ออกช้าบ้างแต่ที่แน่ๆคือมันจะมีออกมาเรื่อยๆ....นี่คือคำสัญญาจากเรา