Cover Types (ผิวหน้าของสายพาน)


          ตอนนี้เป็นเรื่องของผิวสายพานล้วนๆในบทนี้ เราจะพูดถึงเนื้อหาในหัวข้อที่ 1 เท่านั้นนะครับ

 

FUNCTIONS OF COVER RUBBER (หน้าที่ของผิวสายพาน)

  •   ป้องกันชั้นผ้าใบไม่ให้เสียหาย ( Protect  belt carcass) จากการตกกระแทกจากวัสดุ จากการเสียดสีของวัสดุ จากสารเคมี จากแสงแดด ดินฟ้า-อากาศสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายอีกมากมาย พูดง่ายๆคือจากอะไรก็ได้ที่จะทำให้ชั้นผ้าใบเสียหาย
  •   ยืดอายุการใช้งานของสายพาน (Extend belt’s  service life)

          ถ้าเราจะแบ่งผิวสายพานชนิดใช้งานหนัก ( Heavy Conveyor Belt) ให้เข้าใจได้ง่ายสามารถแบ่งประเภทของ                        ผิว (Cover Rubber) ของสายพานลำเลียง (Rubber Conveyor Belt) แบ่งได้ 2 ประเภทคือ ประเภทใช้งานทั่วไป(General Use Conveyor Belt) หรือเรียกกันว่า สายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt) และประเภทใช้งานแบบพิเศษ (Special Conveyor Belt)

          ผิวสายพานมี 2 ด้าน คือ

  •   ผิวด้านบน(Top Cover หรือ Carry Cover)มักจะมีความหนามากกว่าผิวด้านล่างเนื่องจากเป็นด้านที่ต้องสัมผัสกับวัสดุลำเลียง ดังนั้นการสึกหรอจะมีมากกว่าจึงมีความหนาที่มากกว่า
  •   ผิวด้านล่าง(Bottom Cover หรือ Pulley Cover) มักจะมีความหนาน้อยกว่าผิวด้านบนเนื่องจากเป็นด้านที่สัมผัสกับ Pulley เท่านั้น ไม่ได้ขัดสีกับวัสดุ ดังนั้นการสึกหรอจะมีน้อยกว่าความหนาก็จะน้อยกว่า

          บางครั้งก็มีเหมือนกันที่ผู้ใช้งานต้องการให้ ผิวด้านบน(Top Cover หรือ Carry Cover) และผิวด้านล่าง(Bottom Cover หรือ Pulley Cover) มีความหนาเท่าๆกัน เพื่อว่าเมื่อใช้งานด้านหนึ่งจนผิวบางแล้วก็จะกลับด้านมาใช้งานอีกด้านหนึ่งได้ กรณีนี้ก็สามารถทำได้แต่มีข้อที่ต้องพิจารณาคือ สายพานที่ใช้แล้วผิวหน้าจะสึกไม่เท่ากัน เมื่อกลับด้านที่ไม่เรียบสัมผัสกับผิว Pulley จะทำให้การแผ่กระจายของแรงดึง(Tension Distribution) บริเวณหน้าสัมผัสกับผิว Pulleyจะไม่เท่ากันปัญหาอื่นๆอาจจะตามมาได้ ก่อนใช้ขอให้ชั่งน้ำหนัก ได้-เสีย ก่อนให้ดีก็แล้วกันครับ

          มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนด ความหนาของผิวสายพานซึ่งผลทางอ้อมคือความหนาก็เป็นตัวกำหนดอายุการใช้งานของสายพานด้วยเช่นกัน การเลือกชนิด คุณภาพ ความหนาของผิวสายพานต้องพิจารณาถึงอายุการใช้งาน(Service Life) ของสายพานเป็นหลัก ผิวสายพานที่ผลิตต้องเหมาะสมกับวัสดุที่จะลำเลียง เช่น ขนาด เล็ก/ใหญ่ คม/มน น้ำหนักมาก/น้อย ผิวหยาบ/ละเอียด ผง/ก้อน และสิ่งแวดล้อมเช่น ร้อน น้ำมัน สารเคมี ณ.สถานที่ที่ผิวสายพานนั้นทำงานหรือลักษณะการLoad วัสดุ เช่น ตกสูง/ต่ำ ตกกระแทกหนัก/เบา ตกตามทิศทางที่สายพานวิ่งหรือตั้งฉาก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องนำมาตัดสินใจในการเลือกความหนาของสายพานทั้งสิ้น

ผิวของสายพาน (Rubber Cover) แบบเรียบลอกออกมาให้ดู

1. ประเภทใช้งานทั่วไป(General Use Conveyor Belt) หรือเรียกกันว่า สายพานทนสึก (Wear  Resistance Conveyor Belt)            รูปร่างภายนอกสีดำๆอย่างที่เห็นเป็นสายพานที่ใช้กันมากที่สุดในประเทศไทยน่าจะ มากกว่า 80%ขึ้นไป หากเราแยกจะคุณภาพของสายพานโดยใช้ตาดู หูฟังคงแยกไม่ออกและทำไม่ได้อย่างแน่นอน เอาเครื่องวัดความแข็งมาวัดก็ไม่ใช่วาระของเรื่อง ถ้าอยากรู้แยกความแตกต่างแบบบ้านๆต้องใช้เครื่องขัดผ้าทรายลองขัดดู ก็จะได้ความว่าถ้าเป็นเกรด M จะขัดผิวออกยากกว่าเกรด P อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีอะไรเป็นมาตรฐานอ้างอิงกันไว้บ้าง จึงมีผู้ทำมาตรฐานผิวยางของสายพานทนสึก         (Wear  Resistance Conveyor Belt)โดยมีการจัดเกรดจากทั้งค่าย ยุโรป อเมริกา(RMA) ญี่ปุ่น (JIS) ออสเตรเลีย (AS), ISO, South Africa แต่ที่อ้างอิงกันบ่อยๆคือ เป็นของ DIN จาก ประเทศเยอรมนี ปัจจัยที่นำมากำหนดมีแค่ 3 ปัจจัยคือ

 

 

แต่ละตัวมันมีค่ากำหนดยังไงกันบ้างดูรายละเอียดตามตารางข้างล่างได้เลยครับ

 

          ต้องหมายเหตุ ให้ทราบกันนิดหน่อยว่าที่ พูดกันทั่วเมืองไทยว่าผิวสายพานมี Grade M-N-P นั้น แต่เดิมเกรด M และเกรด N เป็นมาตรฐาน DIN ของเยอร์มันนี แต่ปัจจุบันเขาเลิกใช้ไปนานแล้ว (ใช้เกรด W-X-Y-Z แทน) แต่พวกเรายังอนุรักษ์ไว้อยู่ ดังนั้น Grade M-N-P ก็ยังฮิตในบ้านเราอยู่ ส่วนเกรด P ผู้เขียนยังหาที่มาที่ไปไม่ได้ ว่ามันเกิดอย่างไร รู้แต่ว่ามันมีชีวิตอยู่ดีในปัจจุบันหากหาที่เกิดได้เมื่อไหร่จะรีบมาบอกต่อนะครับ

 

      จากตารางหลากหลายที่เห็นอยู่ข้างบน ไม่ว่าจะมาจากมาตรฐานไหนก็ตามจะเห็นว่ามีดัชนีสำคัญ 3 ตัว ที่นำมากำหนดมาตรฐานของ ผิวยางของสายพานทนสึก (Wear  Resistance Conveyor Belt) คือ

          แต่ละตัวเมื่อนำมาถอดรหัสและแปลความหมายแล้วมันเป็นอย่างไร โปรดติดตามในตอนต่อๆไป อย่ากระพริบตา

          1.2 ประเภทใช้งานแบบพิเศษ (Special Conveyor Belt) ซึ่งความที่ว่าพิเศษนี้ก็มีกันมากมายหลายแบบเช่น

 

  •   Heat Resistant Conveyor Belt (สายพานทนร้อน)
  •   Oil /Fat/Grease Resistant Conveyor Belt (สายพานทนน้ำมัน/ไขมัน/จาระบี)
  •   Flame Resistant Belt (สายพานทนเปลวไฟ)
  •   Cold Resistant Belt (สายพานทนความเย็น) Chemical Resistant Conveyor Belt. (สายพานทนสารเคมี)
  •   Antistatic (สายพานมีคุณสมบัติแอนตี้สะแตติก)
  •   Food Grade (สายพานสำหรับอาหาร)

          ผิวสายพานประเภทใช้งานแบบพิเศษ(Special Conveyor Belt)นี้ต้องการ ผิวสายพานแบบพิเศษให้เหมะสมกับการใช้งานนั้นๆ แม้ว่านักเคมีจะมีความเก่งกาจในการเลือกสารเคมีผสมกับยางให้เหมาะสมกับการใช้งานแบบจำเพาะเจาะจงแค่ไหน แต่อย่าเก่งก็คงทำให้มีคุณสมบัติดีๆเด่นๆได้เพียงอย่างเดียว ถ้าอย่างเก่งก็ไม่เกิน 2 อย่าง(แต่ก็ไม่ดีเยี่ยมทั้ง 2อย่าง) เช่น อยากได้ทนสึกหรอมากๆ พร้อมๆกับทนน้ำมันด้วย อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกันยิ่งบอกว่าอยากได้ทนร้อนด้วย เรื่องก็จะไปกันใหญ่เลย เพราะคุณสมบัติของสารเคมีหลายๆอย่างที่ใส่เข้าไปก็ไม่ได้ส่งเสริมคุณสมบัติเด่นๆที่ต้องการทั้ง  2-3 คุณสมบัติพร้อมๆกันได้ แต่มันต้องมาพบกันที่จุดๆหนึ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดที่เราเองนั้นต้องเป็นผู้เลือกว่าต้องการคุณสมบัติตัวไหนให้เด่นตัวไหนให้เป็นตัวรอง อยากเอาดีๆหมดทุกๆ ตัวนะ อยากได้ แต่คนทำ ทำไม่ได้ครับ

Code ที่ใช้กำหนดคุณสมบัติของผิวสายพานแบบพิเศษตามมาตรฐาน DIN

ผิว Cover ชนิดพิเศษมีหลายแบบ

ชนิดของขอบสายพาน (Edge Type)

          Molded Edge: คือสายพานหุ้มขอบ จะมียางหุ้มทั้งหมดรอบๆสายพาน เรื่องราวของการทำหุ้มขอบสายพานก็สืบเนื่องมาจากสมัยดั้งเดิมที่ใช้ผ้าฝ้าย (Cotton) เป็นชั้นรับแรงนั้น การลำเลียงต้องเผชิญกับ ความชื้น และสารเคมีมากมาย และคุณสมบัติของผ้าฝ้าย (Cotton) ก็ไม่สามารถทนกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้ ดังนั้นจึงทำหุ้มขอบสายพานเพื่อป้องกันไว้เสียเลยเพื่อยืดอายุการใช้งานของสายพาน

          Cut Edge: คือสายพานไม่มีขอบ ทำโดยการตัดขอบของสายพานออกไปหลังจากผ่านการอบ (vulcanization) แล้วจะมองเห็นชั้นของผ้าใบในด้านข้าง

          เรื่องราวของการทำสายพานแบบตัดขอบ ก็สืบเนื่องมาจากการพัฒนาการของ Fabric สมัยใหม่ที่ใช้วัสดุสังเคราะห์ เช่น Nylon, Polyesterเป็นชั้นรับแรงนั้น วัสดุสังเคราะห์ เช่น Nylon, Polyesterดูดซึมความชื้น และสารเคมีน้อยมาก จึงทำอันตรายสายพานได้น้อยมาก ดังนั้นการหุ้มขอบสายพานจึงมีความจำเป็นน้อยลงมากๆ เมื่อเทียบกับความได้เปรียบอื่นๆที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากการผลิตแบบตัดขอบเช่น ความรวดเร็วของการผลิต ในส่วนของประเทศที่มีค่าแรงสูงเช่น ยุโรป หรือ อเมริกาจึงนิยมทำสายพานแบบ Cut Edge เพราะผลิตได้เร็วและ

ประหยัดแรงงาน ส่วนในเอเชียและในประเทศไทยเรายังนิยมแบบหุ้มขอบกันอยู่ครับ

  •   การเลือกชนิดของผิวสายพานและเลือกความหนาของสายพานถูกต้องให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานและอายุการใช้งานต้องดูปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่นถ้าใช้สายพานที่ Fabric เป็น Cotton ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้น คงไม่เหมาะสมแน่ เพราะ Cotton อมน้ำได้ เสียหายได้ง่าย หรือหากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องสั่งแบบ หุ้มขอบ (Molded Edge) เอาไว้กันความชื้นเป็นต้น
  •   การเลือกความหนาของสายพานจะยกยอดไปเป็นเรื่องหนึ่งอีกต่างหากเพราะต้องมีความรู้ด้านเทคนิคมาเกี่ยวข้องพอสมควร

          ขอจบตอนนี้ไว้แค่นี้ก่อน เรื่องสายพานพิเศษนี้จะเจาะลึก เป็นเรื่องๆไป เช่น ทนร้อน ทนน้ำมัน ทนเปลวไฟ ให้เห็นกันชัดเจนเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ โปรดติดตาม โลกเราเวลา 1 วันมีแค่ 24 ชั่วโมงแค่นั้นเอง แต่ภารกิจที่ต้องทำมีมากมายหลายอย่าง ทำไม่เสร็จไม่สิ้นสักที ใครที่อ่านเรื่องเหล่านี้แล้วสนใจ เราอยากขออาสาสมัครมาช่วยพิมพ์หน่อยเรื่องที่ท่านอยากจะรู้ให้เราหน่อย สิ่งตอบแทนคือ ท่านถามได้ เราตอบตรง ความรู้อย่างงี้ หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ใครสนใจเชิญมาสมัครได้นะครับ สวัสดีครับ